Thursday, 18 April 2024

ย้อนสู่อดีตอันรุ่งเรืองของ วัดมหาธาตุ แห่งอาณาจักรอยุธยา

30 Jan 2023
238

วัดมหาธาตุ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดมหาธาตุ ถือเป็นวัดที่มีความสําคัญอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพังที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองในอดีต ในวันนี้ storymaker จะพาคุณย้อนไปสู่ยุครุ่งเรืองของวัดมหาธาตุที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวกรุงศรีอยุธยา และกรุสมบัติล้ําค่าที่ถวายเป็นพุทธบูชาจากความศรัทธาของผู้คนในสมัยนั้น

ต้นกําเนิด วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุปัจจุบันตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอยู่ทางทิศใต้ของวัดราชบูรณะ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่1 เมื่อพุทธศักราช 1917 และคาดว่าสร้างแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวรหรือช่วงพุทธศักราช 1931-1938 ใน พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ระบุว่าแล้วเสด็จออกส่งศีลยังพระที่นั่งมังคลาภิเษกเพลาสิบทุ่มทอดพระเนตรโดยฝ่ายบูรพะเห็นพระสารีบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ เรียกปลัดวังให้เอาพระราชญาณทรงเสด็จออกไป ให้เอาตรุยปักขึ้นไว้สถาปนาพระมหาธาตุนั้น สูง 19 วา ยอดนภศูลสูง 3 วา ชื่อวัดมหาธาตุ

ความสําคัญของวัดมหาธาตุในสมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกรุงศรีอยุธยาเพราะเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีต่างๆอีกทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่พํานักของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี ซึ่งในสมัยอยุธยาแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่าย คามวาสี หรือคันธุระ ซึ่งจะมีบทบาทเป็นผู้นําจิตวิญญาณและประกอบพิธีกรรมให้กับพุทธศาสนิกชนในเขตเมือง มีสมเด็จพระสังฆราชประทับจําพรรษาอยู่ที่วัดพระมหาธาตุในพระนครศรีอยุธยา

ส่วนฝ่าย อรัญญวาสี หรือวิปัสสนาธุระจะเน้นปฏิบัติธรรมในทางวิปัสสนา แต่เดิมสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาศรีจะประทับจําพรรษาที่วัดป่าแก้วหรือปัจจุบันคือวัดใหญ่ชัยมงคล ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาประทับจําพรรษาที่วัดไชยวัฒนาราม

สถาปัตยกรรมของวัดมหาธาตุ

ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมของ วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุก่อสร้างเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้น เพื่อให้ความสําคัญกับพระวิหารมากกว่าพระอุโบสถจึงสร้างพระวิหารหลวงไว้ด้านหน้า ถัดมาจึงเป็นพระปรางค์ประธานและพระอุโบสถอยู่หลังสุด พระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุสร้างด้วยศิลาแลง หิน ทราย และอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งราชทูตลังกาที่เคยมาเยี่ยมชมวัดมหาธาตุในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยระบุว่าที่ฐานของพระปรางค์มีรูปพระราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนอน โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายโดยรอบ ซึ่งอาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมเชิงเขาพระสุเมน พระปรางค์ประธานแห่งนี้คือสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ยังมีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นเจดีย์ที่ลดหลั่นกันสี่ชั้น แปดเหลี่ยม ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางขนาดเล็กนับว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตาและพบเห็นเพียงองค์เดียวในอยุธยา

วัดมหาธาตุ อยุธยา

จากความรุ่งเรืองสู่ซากปรักหักพัง

พระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุเคยพังทลายลงมาถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพุทธศักราช 2149 ยอดพระปรางค์ประธานทลายลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑแต่ไม่ได้มีการซ่อมแซม จนมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงบูรณะใหม่ให้สูงกว่าเดิม จาก 44 เมตร เป็น 50 เมตร จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2447 รับรองประธานพังทลายลงมาถึงซุ้มหลังคาและไม่มีการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกเลย

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดมหาธาตุกลายเป็นวัดร้าง ขาดการบูรณะซ่อมแซม สิ่งก่อสร้างและพระพุทธรูปภายในวัด ทรุดโทรมแตกหักเสียหาย พระวิหารหลวงและพระอุโบสถเหลือเพียงเค้าโครง เศียรพระพุทธรูปหินทรายที่ถูกรากต้นโพธิ์โอบล้อมซึ่งปัจจุบันเป็นจุดถ่ายภาพที่โด่งดัง ก็คาดว่าเกิดจากเศียรพระที่แตกหักและถูกทิ้งร้างจนรากไม้ขึ้นห่อหุ้ม

พระบรมสารีริกธาตุแห่งกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุแห่งกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ

เดือนสิงหาคมถึงกันยายน พุทธศักราช 2499 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพระปรางค์วัดมหาธาตุพบโบราณวัตถุหลายรายการ บรรจุอยู่ในผอบหินที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นห้องพระปรางค์ประมาณ 17.6 เมตร ที่สําคัญที่สุดคือ พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในสถูป ทําจากวัสดุต่างๆซ้อนกันถึง 7 ชั้น ได้แก่

  • ชั้นที่หนึ่ง ทําจากสัมฤทธิ์
  • ชั้นที่สอง ทําจากเงิน
  • ชั้นที่สาม ทําจากทองคํา
  • ชั้นที่สี่ ทําจากงาช้าง ยอดประดับทองคํา
  • ชั้นที่ห้า เป็นสถูปไม้ยอดประดับทองคํา
  • ชั้นที่หก สถูปทําจากอัญมณี คือ อเมทิสต์หรือพลอยสีดอกตะแบก ไพฑูรย์ และสปีนเนลสีแดง ซึ่งเป็นอัญมณีหายากและเป็นสีที่ไม่พบในประเทศไทย รัดด้วยสาแหรกทองคํา
  • ชั้นที่เจ็ด เป็นตลับทองคําใต้ตลับฝังอัญมณี 2 เม็ด คือ กรุณหรือคอแลนดดั้มสีม่วงอมชมพูที่หายากในปัจจุบันและสปีนเนลสีแดง รอบตลับประดับด้วยโกเมน ไพทูรย์ สปีนเนล และมุกดาหาร ยอดฝาตลับประดับเพชรที่ไม่ผ่านการเจียระไนและมีโครงสร้างพิเศษ สะท้อนถึงความเป็นยอดฝีมือและการใช้เทคนิคชั้นสูงในการคัดเลือกเพชรของช่างทองอยุธยา ส่วนภายในตลับทองคําประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในน้ํามันจันทร์ จํานวน 1 องค์ สันฐานคล้ายเกร็ดพิมเสนสีขาวเป็นรุ้งพราว

ซึ่งการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลจากอินเดียและศรีลังกา โดยสมัยอยุธยาตอนต้นมักประดิษ ฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ระดับพื้นดินหรือใต้ดินและบรรจุในวัสดุมีค่าซ้อนชั้น เช่น พระบรมสารีริกธาตุจากวัดมหาธาตุ มาช่วงอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลายจึงเปลี่ยนตําแหน่งมาไว้ที่ส่วนกลางในตําแหน่งคูหาของเจดีย์และส่วนยอดของเจดีย์แทน

วัดมหาธาตุ

เครื่องพุทธบูชาทองคําในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ

นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่สําคัญและทรงคุณค่าแล้ว ภายในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุยังพบเครื่องพุทธบูชาทองและพระพุทธรูปทองคําอีกมากมาย เช่น พระพุทธรูปปางประทานอภัยสร้างจากโลหะผสมหล่อกะไหล่ทอง ศิลปะลพบุรีที่แสดงร่องรอยของอิทธิพลศิลป์ทวารวดี พระพิมพ์ปางประทานอภัยเป็นแผ่นทองสลากและดุลลายสร้างแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น พระพุทธรูปปางมารวิชัยแผ่นทองคําฉลุและสลากลายรูปเทพพนม แหวนทองคําระดับอัญมณี แหวนตรารูปราชสีห์ และแหวนตรารูปแม่โคกับลูก

ภาชนะหินรูปปลาทําจากหินแกะสลักเป็นตัวปลาตกแต่งด้วยลายน้ําทอง ภายในบรรจุเครื่องใช้ เช่น ตลับทองคํารูปสิงโตจีน ประดับอัญมณี ตลับลายคราม โถหิน ประติมากรรมแก้วผลึกรูปเสือ ทําจากหินเขี้ยวหนุมานหรือหินคอสเป็นรูปเสือเหลียวหลังหมอบอยู่บนฐานทรงรีซึ่งเครื่องใช้เครื่องประดับที่พบภายในภาชนะหินรูปปลาทั้งหมดนี้ สันนิฐานว่าเป็นสมบัติของเจ้านายฝ่ายหญิง

นอกจากนี้ยังพบลานเงินจารึกอักษรไทยพร้อมกับพระพิมพ์หลายหมื่นองค์ ในลานเงินจารึกเนื้อความกล่าวถึงคุณศรีรัตนากรและพวกพ้อง ร่วมกันสร้างพระพิมพ์ 76152 องค์ ถวายอานิสงส์แด่สมเด็จพระรามาธิบดีหรือพระเจ้าอู่ทองและสมเด็จพระศรีราชาธิราชหรือสมเด็จเจ้าพระยาแพรกศรีมหาราชาซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้วให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิพพาน ส่วนผู้สร้างพระพิมพ์ก็ขอไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แสดงให้เห็นว่าคุณศรีรัตนากรน่าจะเป็นบุคคลสําคัญในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1

วัดมหาธาตุอยุธยา

ปัจจุบันวัดมหาธาตุเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่สําคัญในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแหล่งมรดกโลกของไทย ส่วนพระบรมสารีริกธาตุพร้อมกับสถูปที่บรรจุ รวมทั้งพระพุทธรูปทองคํา พระพิมพ์ทองคํา เครื่องพุทธบูชา และเครื่องประดับอัญมณีหายาก ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ ถูกนําไปจัดแสดงในอาคารเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับเครื่องทองวัดราชบูรณะ

และยังมีพระบรมสารีริกธาตุกับเครื่องพุทธบูชาของวัดต่างๆ เช่น วัดพระราม วัดพระศรีสรรเพชญ และพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปศึกษาในหลากหลายแง่มุม ทั้งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา การค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนานาชาติ ความประณีตและเทคนิคชั้นสูงของช่างทองแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

สนับสนุนบทความโดย :: ufax7