Saturday, 4 May 2024

ต้นกำเนิด โทรทัศน์ สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก!!

15 Apr 2023
258

โทรทัศน์

วิวัฒนาการของการสื่อสารมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายเพื่อพัฒนาให้มนุษย์อย่างเราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายยิ่งขึ้นและหนึ่งในนั้นก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า โทรทัศน์ นั่นเอง โดยโทรทัศน์หรือทีวีเป็นระบบโทรคมนาคมที่สามารถส่งสัญญานภาพจากที่ หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วยระบบไร้สาย

ซึ่งเทคโนโลยีโทรทัศน์นี้ก็ได้มีการพัฒนาต่อยอดจากระบบวิทยุ โดยที่มาของโทรทัศน์นั้นมีเส้นเวลาที่คาบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบวิทยุอยู่ด้วย รวมถึงยังมีผู้ที่คิดค้นระบบโทรทัศน์หลากหลายแบบทั้งระบบเครื่องกล ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และในวันนี้เรา storymaker มีเรื่องราวจะพาทุกคนย้อนกลับไปทำความรู้จักกับโทรทัศน์อีกครั้งว่ามีจุดเริ่มต้นมาได้ยังไงและทำไมมันถึงสามารถส่งภาพแบบไร้สายได้ พร้อมแล้วไปดูกัน

โทรทัศน์

ประวัติความเป็นมาของ โทรทัศน์ หรือวิทยุโทรทัศน์

โทรทัศน์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการให้คนที่อยู่ใกล้ๆสามารถมองเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้และสามารถรับรู้ข่าวสารในเหตุการณ์ต่างๆว่าในขณะนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอยู่ที่ใดบ้าง แต่ต้องบอกก่อนว่าโทรทัศน์นั้นไม่ได้มีนักประดิษฐ์คนใดเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นมาตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย แต่โทรทัศน์นี้มันเกิดมาจากการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และจุดเริ่มต้นของโทรทัศน์ก็เริ่มมาจากการที่ Samuel morse สามารถคิดค้นและพัฒนาโทรเลขขึ้นมาได้ และจากนั้นในปี 1876 Alexander Graham Bell ก็ได้พัฒนาระบบโทรเลขไปเป็นระบบโทรศัพท์ที่ส่งเสียงของมนุษย์ผ่านสายไฟในระยะใกล้ๆได้ และต่อมาเมื่อมีเทคโนโลยีของโทรศัพท์แล้วในปี 1884 ก็มีนักวิจัยชาวเยอรมันที่ชื่อว่า Paul Nipkow ได้ค้นพบวิธีการทำให้ภาพกลายเป็นเส้นความถี่วิ่งไปในอากาศได้ แต่เมื่อส่งออกไปแล้วมันก็ยังไม่สามารถแปลงเอาคลื่นเหล่านั้นกลับมาเป็นภาพดังเดิมได้

จากนั้นต่อมาในปี 1923 Vladimir Zworykin นักประดิษฐ์ชาวรัสเซียที่อพยพไปอยู่อเมริกาและยังเป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรรมของบริษัทคอร์ปอเรชั่นแห่งอเมริกาก็สามารถค้นพบหลอดจับภาพได้และเรียกมันว่า Iconoscope และก็ได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นผู้ประดิษฐ์หลอดสแกนอิเล็กตรอนได้เป็นคนแรก

John Logie Baird

และต่อมา John Logie Baird วิศวกรชาวสกอตแลนด์ก็ได้นำแนวคิดของ Paul Nipkow มาค้นคว้าต่อจนกลายเป็นผู้คิดค้นเครื่องรับโทรทัศน์ขาวดำระบบเชิงกลเป็นคนแรกของโลกในปี 1925 และยังเป็นนักประดิษฐ์คนแรกที่คิดค้นระบบโทรทัศน์สีออกสู่สายตาชาวอังกฤษ รวมถึงยังเป็นบุคคลแรกที่ประดิษฐ์หลอดภาพโทรทัศน์สีแบบอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันนามว่า Philo Taylor Fransworth ก็สามารถสาธิตการส่งสัญญาณโทรทัศน์เครื่องแรกของระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยหลอดสแกนของเขา ในวันที่ 7 กันยายน ปี 1927 โดยภาพแรกที่ส่งสัญญาณออกไปสู่เครื่องรับโทรทัศน์ก็คือภาพของ Elma และ Gardner ภรรยาและน้องภรรยาของเขาเอง

Philo Taylor Fransworth

แต่ตัวเขานั้นยื่นจดสิทธิบัตรหลัง Vladimir และด้วยความที่ระบบที่คิดค้นได้นั้นมีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากก็เลยทำให้ช่วงปลายทศวรรษที่ 30 เกิดการต่อสู้กันทั้งกฎหมายแต่ผลสุดท้ายศาลก็ตัดสินให้ Fransworth ชนะคดีเนื่องจากระบบของเขานั้นมีความสมบูรณ์มากกว่าและด้วยเหตุนี้ก็เลยทำให้ Fransworth ได้รับสิทธิบัตรเป็นผู้ประดิษฐ์โทรทัศน์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์เป็นคนแรกของโลกนั่นเอง

ส่วนของการนำระบบโทรทัศน์มาใช้ในภาคประชาชนก็เกิดขึ้นจากการที่ BBC นำสิ่งประดิษฐ์ของ John Logie Baird ไปทดลองออกอากาศให้ชาวอังกฤษได้ชมเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี 1929 และปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดีและทำให้ทาง BBC ก็เลยตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์การแพร่ภาพจาก John Logie Baird และทำการแพร่ภาพโทรทัศน์ออกสู่สายตาประชาชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 1936 ซึ่ง ณ เวลานั้นประเทศอังกฤษมีเครื่องรับภาพเพียง 100 เครื่องเท่านั้น และ BBC ก็ถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์สถานีแรกของโลกที่ได้แพร่ภาพออกอากาศนั่นเอง

BBC

ส่วนในประเทศไทยกิจการโทรทัศน์นั้นได้เริ่มขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2474 จากพระดำริของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น ด้วยการติดต่อกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดหาและติดตั้งเครื่องส่งและอุปกรณ์เพื่อทดลองออกอากาศและหากโครงการนี้เป็นที่พอพระทัยก็จะโปรดให้สั่งซื้อเพื่อเก็บเอาไว้ใช้งานในราชการ

แต่ทว่าในปีพุทธศักราช 2475 ได้เกิดการปฏิวัติสยามขึ้นโครงการดังกล่าวก็เลยต้องถูกยกเลิกไป แล้วต่อมาในปีพุทธศักราช 2491 ยุคนี้ต้องบอกเลยว่ายุคบุกเบิกของโทรทัศน์ไทยก็ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อ สรรพสิริ วิริยศิริ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของกรมประชาสัมพันธ์ ได้เขียนบทความเรื่องวิทยุผ้าเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีสื่อสารชนิดใหม่ของโลกให้ผู้อ่านได้รู้จัก และกรมประชาสัมพันธ์เลยส่งข้าราชการกลุ่มหนึ่งไปศึกษาดูงานดังกล่าวที่สหราชอาณาจักรในปีพุทธศักราช 2493

และเมื่อเล็งเห็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศชาติ กรมประชาสัมพันธ์เลยนำเสนอโครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีณขณะนั้น เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์รัฐบาลเมื่อปีพุทธศักราช 2494 แต่ทว่าเมื่อเรื่องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร สส.ส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินก็เลยทำให้โครงการดังกล่าวนี้ถูกปัดตกไปอีกครั้ง

สถานีโทรทัศน์

จากนั้นหนึ่งปีถัดมา บริษัท วิเชียรวิทยุและโทรภาพ จำกัด ได้มีการนำเข้าเครื่องส่งวิทยุโทรภาพ 1 เครื่องมาทดลองแพร่ภาพการแสดงดนตรีของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์จากห้องส่งวิทยุกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยภายในกรมประชาสัมพันธ์ โดยถ่ายทอดสดไปยังเครื่องรับ 4 เครื่อง ที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรมประชาสัมพันธ์มากนัก เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและประชาชนนั้นได้รับชมเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2495

ซึ่ง ณ ตอนนั้นสื่อมวลชนต่างๆก็ได้นำเสนอข่าวนี้โดยการใช้คำภาษาอังกฤษว่า Television เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย ก็เลยต้องกราบทูลถามไปยัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ให้ทรงวิเคราะห์ศัพท์นี้ก่อนที่พระองค์นั้นจะทรงบัญญัติขึ้นมาเป็นคำว่าวิทยุโทรทัศน์ แต่ประชาชนก็มักจะนิยมเรียกกันสั้นๆว่าโทรทัศน์นั่นเอง

โทรทัศน์

จากนั้นไม่นานเมื่อหลายๆคนได้เห็นถึงความน่าอัศจรรย์ของโทรทัศน์แล้ว คณะรัฐมนตรีและข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์รวม 7 คน ก็ได้ทำการระดมทุนด้วยการขายหุ้นให้กรมประชาสัมพันธ์จำนวน 11 ล้านบาท และก็ยังมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในภาครัฐอีก 8 แห่ง ที่สมทบให้อีกประมาณ 9 ล้านบาท รวมกันเป็น 20 ล้านบาท เพื่อให้นำมาจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2495

เพื่อรองรับกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยและพัฒนาระบบโทรทัศน์กันเรื่อยมาซึ่ง ณ ตอนนั้นมีช่องโทรทัศน์เกิดขึ้นมากมายได้แก่ ช่อง 4 บางขุนพรหม,สถานีกองทัพบกช่อง 5 ,สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์ในช่วงนี้ต้องบอกเลยว่าเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

เคเบิลทีวี

มีการเกิดใหม่ของสถานีท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงเคเบิลทีวีก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบโทรทัศน์ดิจิตอลเมื่อปีพุทธศักราช 2556 และทำให้เกิดช่องทีวีดิจิตอลเพิ่มอีกมากมาย อย่างเช่น เวิร์คพอยท์23 โมโน29 ช่องวัน 31 อมรินทร์ทีวี ไทยรัฐทีวี และช่องอื่นๆอีกมากมาย

ปัจจุบันต้องบอกเลยว่าสื่อโทรทัศน์มีความนิยมลดลงจากการเข้ามาของสื่ออินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ชมเองมีทางเลือกในการรับชมสื่อเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ในประเทศไทย ยังคงมีความจำเป็นอยู่มากเพราะหลายๆช่องยังคงดำเนินกิจการและพัฒนารายการของช่องโทรทัศน์อยู่เสมอ รวมถึงโทรทัศน์นั้นก็ยังเป็นสื่อหลักที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆและถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญของประเทศได้

สนับสนุนโดย jilislot